ความเป็นมา
เขื่อนสิริกิติ์ เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อเขื่อนผาซ่อม ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถขนานนามว่า “เขื่อนสิริกิติ์”

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า
เขื่อนสิริกิติ์ สร้างปิดกั้นลําน้ำน่าน ที่ตําบลผาเลือด อําเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ดําเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน เมื่อ ปี ๒๕๐๖ แล้วเสร็จในปี ๒๕๑๕ ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน แกนกลางเป็นดินเหนียว สูง ๑๓๓.๖๐ เมตร ยาว ๘๑๐ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บ กักน้ำได้ ๙,๕๑๐ล้านลูกบาศก์ เมตร ความจุของอ่างมากเป็นที่สามรองจากเขื่อนศรีนครินทร์ และ เขื่อนภูมิพล
โรงไฟฟ้าและองค์ประกอบดําเนินการก่อสร้างโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี ๒๕๑๑ แล้วเสร็จในปี ๒๕๑๕ ติดตั้งเครื่องกําเนิดไฟฟ้า รวม ๔ เครื่อง กําลังผลิตเครื่องละ ๑๒๕,๐๐๐ กิโลวัตต์ รวมกําลังผลิต ๕๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ ๑,๒๔๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนสิริกิติ์และโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

ประโยชน์ เขื่อนสิริกิติ์ จัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนนี้มีหลายประการ คือ

การชลประทาน น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะถูกปล่อยออกไปยังพื้นที่เพาะปลูกในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน กับพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยา ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ในปริมาณที่ได้มีการตกลงร่วมกันไว้กับกรมชลประทาน

การบรรเทาอุทกภัย อ่างเก็บน้ำจะช่วยเก็บกักน้ําที่อาจจะไหลบ่าลงมา ช่วยลดการเกิดอุทกภัยในทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดจนทุ่งเจ้าพระยาลงมาถึงกรุงเทพมหานคร

การผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยออกไปเพื่อการชลประทานจะผ่านเครื่องกําเนิดไฟฟ้าทั้ง ๔เครื่อง ให้พลังไฟฟ้า ๕๐๐,๐๐๐ กิโลวัตต์
ช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น การประมง กฟผ. ได้นําพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเป็นจํานวนมาก ทําให้กลายเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ ช่วยเสริมรายได้ให้กับราษฎรบริเวณนั้น

การคมนาคมทางน้ำ ช่วยให้ การคมนาคมทางน้ำ บริเวณเหนือเขื่อนไปยังจังหวัดน่านสะดวกและใช้งานได้ตลอดปี

การท่องเที่ยว
เขื่อนสิริกิติ์มีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะในฤดูหนาว ความเงียบสงบของบรรยากาศ ประกอบกับพืชพันธุ์ไม้ที่งามสะพรั่ง เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ ในบริเวณเขื่อนยังมีสวนสาธารณะที่ให้ความร่มรื่นอีกแห่งหนึ่งคือ สวนสุมาลัย ซึ่ง กฟผ. สร้างขึ้นถวายเป็นสักการะแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน หย่อนใจแก่ประชาชนโดยทั่วไป ภายในสวนประกอบไปด้วยพันธุ์ไหลากชนิด สระบัว ลานประติมากรรม ซึ่ง เป็นสัญลักษณ์ของสวน ชื่อ “ประติมากรรมสู่แสงสว่าง” ลานอเนกประสงค์ และลานสุขภาพ

การเดินทาง จังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๔๙๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ ๗ ชั่วโมง ตามเส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์และจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๔๕ ถึงเขื่อนสิริกิติ์ อีก ๕๘ กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวตามระยะทางก่อนถึงเขื่อนสิริกิติ์ มีสถานที่สําคัญทางประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง อาทิ

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างในสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปสําริด นั่งขัดสมาธิมีความสวยงามมาก

พระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่บนยอดเขาห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐาน พระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียวัตถุที่สําคัญของจังหวัดนี้

อําเภอลับแล ห่างจากตัวเมือง ๖ กิโลเมตร เป็นอําเภอที่มีชื่อเสียงในการทําไม้กวาดตองกงผ้าซิ่นตีนจกทอฝีมือละเอียด และลางสาดรสหวาน

วนอุทยานสักใหญ่ อยู่ในอําเภอน้ำปาด มีต้นสักใหญ่ที่สุดในโลกอายุ ๑,๕๐๐ ปี อยู่เลยเขื่อนสิริกิติ์ไปประมาณ ๑๙ กิโลเมตร

บ่อเหล็กน้ำพี้ ห่างจากอําเภอทองแสนขัน ๑๔ กิโลเมตร มีบ่อเหล็กกล้าชั้นดีหลายบ่อ แต่มีบ่อหนึ่งชื่อ “บ่อพระแสง” ซึ่งสงวนไว้ใช้ทําพระแสงดาบสําหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น พระบรมธาตุเจดีย์ หรือ พระธาตุทุ่งยั้ง องค์ที่เห็นปัจจุบันเป็นองค์ใหม่ ที่สร้างขึ้นแทนองค์เก่า ที่พังทลายไปมีอายุประมาณ ๗๐ ปี วัดนี้อยู่ตรงตลาดทุ่งยั้ง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๕ กิโลเมตร

การอํานวยความสะดวก นอกเหนือจากการบริการบ้านพักรับรองแล้ว ภายในบริเวณเขื่อนยังมี “เรือนน้ำพุ” ไว้บริการอาหาร ห้องประชุมและสัมมนา สนามกีฬาต่างๆ เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล เทนนิส ปิงปอง กอล์ฟ และสระว่ายน้ำ เป็นต้น แต่ถ้าต้องการชมทิวทัศน์ที่สวยงามของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ทางเขื่อนก็มีเรือขนาดใหญ่ไว้คอยให้บริการนําเที่ยวชมอีกด้วย เขื่อนสิริกิติ์ นอกจากจะเป็นหัวใจของโครงการ พัฒนาลุ่มน้ำน่านแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่สวยงาม มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปเยี่ยมชมปีละ หลายหมื่นคน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีความภูมิใจและยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนเขื่อนสิริกิติ์ โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๘.๐๐-๑๘.๐๐ น.